ค่าไฟฟ้าในช่วงครึ่งปีหลัง 2566 อยู่ในช่วงขาลงจริงหรือ ? 1

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ออกมาเปิดเผยว่า ค่าไฟฟ้าน่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในช่วงเดือน ม.ค.- เม.ย. 2566 ค่าไฟฟ้าจะเริ่มค่อยๆลดลง หลังจากปริมาณการผลิตก๊าซในอ่าวไทยเพิ่มขึ้นเป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในเดือนสิงหาคม และจะเพิ่มขึ้นเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในช่วงปลายปี 2566 ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Spot) ก็มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง รอบนี้มาอยู่ในระดับ 14.8 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู จากรอบที่แล้วอยู่ที่ 28 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู สุดท้ายจะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงอีกในช่วงค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) งวด ก.ย.-ธ.ค. 2566 โดยจะลดลงจากงวดปัจจุบัน ประกอบกับหลังจากเดือนพฤษภาคมในสภาพอากาศอุณหภูมิจะลดลง ประชาชนใช้ไฟฟ้าจะลดลงด้วย
ในขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่าจากสถานการณ์ความผันผวนของราคา LNG นำเข้าที่ส่งผลกระทบค่าเอฟที สำนักงาน กกพ.ศึกษาว่าแนวโน้มราคาค่าไฟฟ้าที่ผันแปรตามราคา LNG สำหรับการคำนวณค่าไฟฟ้าในงวดถัดไป (ก.ย.- ธ.ค. 2566) โดยกำหนดให้ปัจจัยการผลิตอื่นเป็นตัวแปรคงที่ ซึ่งจะได้ค่าเอฟทีดังนี้
1. ราคา LNG เฉลี่ย 14 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียูจะลดค่าไฟฟ้าได้ 30 สตางค์ต่อหน่วย
2. ราคา LNG เฉลี่ย 15 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียูจะลดค่าไฟฟ้าได้ 26 สตางค์ต่อหน่วย
3. ราคา LNG เฉลี่ย 16 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียูจะลดค่าไฟฟ้าได้ 23 สตางค์ต่อหน่วย
ทั้งนี้ทางสำนักงาน กกพ. คำนวณว่าหากการผลิตก๊าซในอ่าวไทยสามารถผลิตได้เพิ่มขึ้นตามแผน ก็จะทำให้ค่าเอฟทีลดลงมากกว่า 50 สตางค์ต่อหน่วย เนื่องจากราคาก๊าซในอ่าวไทยมีราคาถูกกว่าราคา LNG นำเข้าถึง 2-3 เท่าตัว จึงสามารถลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีนัยสำคัญ
ผู้เขียนอยากลองสำรวจข้อมูลที่เป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการคำนวณค่าเอฟทีว่าตั้งแต่ค่าเอฟทีช่วง ม.ค.- เม.ย. 2566 ช่วง พ.ค.-ส.ค.2566 และช่วง ก.ย.- ธ.ค. 2566 มีสมมติฐานที่แตกต่างกันอย่างไรบ้าง จะมีผลต่อค่าเอฟทีทั้ง 3 ช่วงเป็นอย่างไร
เริ่มจากค่าเอฟที ม.ค.- เม.ย. 2566 ค่าเอฟทีผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านที่อยู่อาศัยอยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ค่าไฟฟ้ารวม 4.72 บาทต่อหน่วย เท่ากับงวดที่แล้ว ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ ค่าเอฟทีอยู่ที่ 154.72 สตางค์ต่อหน่วย ค่าไฟฟ้ารวม 5.33 บาทต่อหน่วย ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบ 90.9 ดอลลาร์ต่อบาเรล ราคา Pool Gas 466 บาทต่อล้านบีทียู LNG ในตลาดจร (LNG Spot) อยู่ที่ 29.6 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ซึ่งสมมติฐานข้างต้นพบว่าสูงกว่าข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงในช่วงดังกล่าว คือราคาน้ำมันดูไบจริงอยู่ที่ 78-86 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคา LNG Spot จริงอยู่ระหว่าง 12-29 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู ราคา Pool Gas ต่ำกว่า 466 ซึ่งจะทำให้ค่าเอฟทีที่เรียกเก็บสูงกว่าที่เกิดขึ้นจริง จึงทำให้มีเงินสะสมมาจากช่วงดังกล่าว หรือ ค่า AF เหลือมาใช้ลดราคาในงวดเดือน พ.ค.- ส.ค. 2566 จำนวนหนึ่ง
ค่าเอฟทีงวดเดือน พ.ค.- ส.ค. 2566 ทั้งผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านที่อยู่อาศัยและประเภทอื่นๆเท่ากันที่ 91.43 สตางค์ต่อหน่วย รวมค่าไฟทั้งหมดเท่ากับ 4.70 บาทต่อหน่วย ประเภทผู้อยู่อาศัยลดลง 2 สตางค์ต่อหน่วย ผู้ใช้ฟฟ้าประเภทอื่นลดลง 63.49 สตางค์ต่อหน่วย โดยมีสมมติฐานราคาน้ำมันดูไบอยู่ที่ 80.4 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล ราคา Pool Gas อยู่ที่ 379 บาทต่อล้านบีทียู ราคา LNG Spot อยู่ที่ 19.70 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู ซึ่งจากข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงช่วงเดือนพฤษภาคม 2566 พบว่าราคาน้ำมันดูไบอยู่ที่ 75 ดอลลาร์ต่อบาเรล ราคา LNG Spot อยู่ที่ 9.8-10 ดอลล่าร์ต่อล้านบีทียู ราคา Pool Gas ต่ำกว่า 379 บาทต่อล้านบีทียู ซึ่งจะเห็นได้ว่าราคา LNG Spot ต่ำกว่าที่กำหนดไว้มากกว่าครึ่งหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลให้ราคา Pool Gas ต่ำกว่าที่กำหนดไว้มาก ดังนั้นจึงทำให้ค่าเอฟทีที่เกิดขึ้นจริง ต่ำกว่าที่เรียกเก็บ จึงทำให้ค่า AF เป็นบวกนำมาใช้ลดค่าไฟฟ้าในงวดถัดไปได้จำนวนหนึ่ง
สำหรับค่าเอฟทีงวด ก.ย.- ธ.ค. 2566 นั้นคาดว่าเศรษฐกิจขอสหรัฐอเมริกาและยุโรปสู่ภาวะถดถอย อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง ความต้องการพลังงานชะลอตัวลง ส่งผลให้ราคาน้ำมันดูไบล่วงหน้าอยู่ในระดับ 72-74 ดอลลาร์ต่อบาเรล ราคา LNG Spot จะอยู่ในระดับ 10-12 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ราคาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยลดลงจากช่วงก่อน เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยสัมพันธ์กับราคาน้ำมันเตาย้อนหลัง 8-12 เดือน ซึ่งในขณะนั้นราคาน้ำมันเตาลดลงตั้งแต่ปลายปี 2565 เป็นต้นมา ราคาก๊าซจากเมียนมาร์ก็ชะลอตัวลดลงตามราคาน้ำมันเตา ส่งผลให้ราคา Pool Gas ลดลงต่ำกว่า 371 บาทต่อล้านบีทียูอย่างแน่นอน ดังนั้นคาดว่าค่าเอฟทีงวด ก.ย.-ธ.ค. 2566 จะลดลงจากราคา Pool Gas ที่ลดลงจากงวดเดือน พ.ค.- ส.ค.2566 และยังมีเงินสะสม AF ที่เป็นบวกมาจาก 2 งวดคือ งวด ม.ค.- เม.ย. 2566 และ พ.ค.- ส.ค.2566 นำมาลดค่าเอฟทีในงวดสุดท้ายของปีนี้ได้ไม่ต่ำกว่า 50 สตางค์แน่นอน
โดยสรุปแล้วผู้เขียนมองว่าคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ถ้าสถานการณ์ปกติมุมมองก็คงไม่แตกต่างจากหลายๆฝ่ายที่มองว่าแนวโน้มค่าไฟฟ้าช่วงปลายปีนี้เป็นขาลง คลี่คลายลงด้วยปัจจัยเชิงลบที่ลดลงจากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ทั้งต้นทุนเชื้อเพลิงลดลง อัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่ามากขึ้น ปริมาณก๊าซในอ่าวไทยที่เพิ่มขึ้น ทั้งหมดส่งผลบวกต่อค่าเอฟทีและค่าไฟฟ้าถูกลง แต่ก็ยังเหลือปัจจัยหลักๆที่ยังประมาทไม่ได้จากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังครุกรุ่น และปัญหาหนี้เก่าจากการชำระค่าเชื้อเพลิงคืนให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ต้องบริหารจัดการกันต่อไป
ตอนหน้าจะลองมาคาดการณ์มุมมอง การพิจารณา และการตัดสินใจของ กกพ.กับการทบทวนค่าเอฟที และค่าไฟฟ้างวดสุดท้ายของปีให้ฟังว่าน่าจะเป็นอย่างไร