นอกเหนือจากการกำกับเรื่องค่าไฟ ยังมีบทบาทสำคัญอื่นที่ กกพ.ให้การกำกับดูแล

นอกเหนือจากการกำกับเรื่องค่าไฟ ยังมีบทบาทสำคัญอื่นที่ กกพ.ให้การกำกับดูแล

หลายคนอาจจะทราบแล้วว่าภารกิจหลักที่สำคัญของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) คือผู้กำกับดูแลกิจการพลังงานไฟฟ้า และก๊าซธรรมชาติ แต่นอกจากนี้ยังมีอีกหลายบทบาทที่สำคัญ ตาม พรบ. ประกอบการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ซึ่งมีบทบาทสำคัญๆอยู่หลายด้าน ตั้งแต่การจัดหาไฟฟ้า กำกับมาตรฐาน ความมั่นคงทางด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองผู้ใช้พลังงาน การออกใบอนุญาต การให้ความเห็น รวมไปถึงการบริหารกองทุนพัฒนาไฟฟ้า
.
[ด้านการจัดหาไฟฟ้า]

สำนักงาน กกพ. กำกับการจัดหาไฟฟ้าและส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อกระจายแหล่งเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ผ่านมาตรการจูงใจด้านราคารับซื้อไฟฟ้า ตลอดจนส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองตามนโยบายภาครัฐ เพื่อให้มีบริการด้านพลังงานอย่างเพียงพอ และมีความมั่นคงด้านพลังงาน โดย กกพ. กำกับการรับซื้อไฟฟ้าให้เป็นไปตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย
.
[ด้านการกำกับอัตราค่าบริการให้เกิดความเป็นธรรม]

สำนักงาน กกพ. ได้ดูแลเรื่องการกำกับอัตราค่าบริการไฟฟ้า โดยยึดหลักการกำกับอัตราค่าบริการพลังงานให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม การลงทุน หรือเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้ตอบสนองอัตราค่าบริการที่สะท้อนต้นทุนและคำนึงถึงประสิทธิภาพการประกอบกิจการพลังงาน อาทิ กำหนดหลักเกณฑ์การกำกับอัตราค่าบริการไฟฟ้า (ระยะสั้น) เพื่อกำกับอัตราค่าบริการไฟฟ้าสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน

“ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย เป็นประเภทที่ใช้ปริมาณไฟฟ้าไม่คงที่ และจำเป็นต้องสำรองไฟฟ้าไว้ตลอดเวลา ต่างจากประเภทอุตสาหกรรมที่มีการใช้ไฟคงที่ ตลอด 24 ชม. กลไกที่ใช้กับผู้ใช้ไฟประเภทบ้านอยู่อาศัย คือ ใช้ไฟน้อยจ่ายถูก หรือใช้มากก็จะจ่ายแพงตามลำดับขึ้นไป เพราะฉะนั้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าให้ประหยัด ก็จะเป็นการช่วยลดต้นทุนพลังงาน” นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) กล่าว
.
[ด้านกำกับมาตรฐานและความมั่นคงทางด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม]

กระบวนการอนุญาตในการประกอบกิจการไฟฟ้านอกจากการอนุญาตตามปกติแล้ว สำหรับการกำกับดูแลมาตรฐานคุณภาพทางด้านสิ่งแวดล้อม และการดูแลผลกระทบแล้ว กกพ.ยังจัดให้มีการทำสัญญาระหว่างเอกชนและภาครัฐในการขายไฟ การกำหนดอัตราค่าบริการ รวมถึงการกำกับของสำนักงาน กกพ. ให้เป็นไปตามเอกสารแนบท้ายสัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือใบอนุญาต เพื่อมีการรายงานข้อมูลเพื่อการตรวจสอบติดตามในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ส่วนกลุ่มผูกขาดโดยธรรมชาติ เช่นระบบขนส่ง ระบบจำหน่าย การกำกับจะแตกต่างจากเอกชน คือกำกับอยู่บนทรัพย์สิน โดยบทบาทหน้าที่ของ สำนักงาน กกพ. ก็จะทำหน้าที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับการลงทุน การบริหารจัดการ ไปจนถึงผลตอบแทนที่จะได้รับ
.
[ด้านการคุ้มครองผู้ใช้พลังงาน]

สำหรับบทบาทหน้าที่การคุ้มครองผู้ใช้พลังงาน กกพ. มีการดูแลไปยังกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้ามากกว่าผู้ผลิต ผ่านการทบทวนมาตรฐานสัญญาการให้บริการผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อย และกิจการขนาดเล็ก ทุกๆ 3 ปี และก่อให้เกิดการยกระดับการคุ้มครองสิทธิผู้ใช้ไฟฟ้ามากขึ้นกว่าในอดีตมา เช่น มาตรการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าให้กับประชาชนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 การงดเว้นการตัดไฟกลุ่มบ้านอยู่อาศัยที่มีผู้ป่วยติดเตียงที่ต้องใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์และใช้ไฟตลอดเวลา และเปิดให้ร้องเรียนปัญหาต่างๆ ที่ประชาชนได้รับผลกระทบ เกี่ยวกับไฟฟ้า โดยประชาชนสามารถร้องเรียนไปยัง คณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต หรือ คพข. ในเขตพื้นที่นั้นได้ทันที

“เพื่อให้ได้รับการดูแลความช่วยเหลือเรื่องไฟฟ้าจากทางการไฟฟ้า ซึ่งหากขาดการชำระค่าไฟฟ้าเกินสองเดือนจะต้องถูกตัดไฟทันที แต่พื้นที่ใดหรือบ้านหลังไหนที่ได้ทำการลงทะเบียนผู้ป่วยเตียงไว้ ก็จะสามารถใช้ไฟได้ต่อ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ใช้ไฟฟ้า”นายคมกฤช กล่าว
.
[ด้านการออกใบอนุญาต]

มีการออกใบอนุญาตการประกอบกิจการไฟฟ้าและกิจการก๊าซธรรมชาติได้ตามกรอบเวลาที่กำหนดรวมทั้งได้ทบทวนการกำหนดประเภทใบอนุญาตการประกอบกิจการพลังงาน ปรับปรุงกให้มีความทันสมัยเพื่อให้สอดรับรูปแบบธุรกิจและสภาพการณ์ในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปการกำกับและบริหารกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการ สามารถยื่นขอใบอนุญาตผ่านระบบเก่า ซึ่งจะอำนวยเรื่องการขออนุญาต การกำกับติดตาม โดยปัจจุบันได้มีแพลตฟอร์มกลาง เพื่อการสื่อสารระหว่างผู้ประกอบการกับสำนักงาน กกพ. ทำให้การดำเนินงานมีความสะดวกรวดเร็ว
.
[ด้านการบริหารกองทุนพัฒนาไฟฟ้า]

อีกหนึ่งบทบาทของสำนักงาน กกพ. คือการกำกับและบริหารกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ยกตัวอย่างโรงไฟฟ้าหลายโรงที่ขายเข้าระบบเป็นหลัก ไฟถูกจ่ายเข้าสู่ระบบ แต่ไม่กลับคืนสู่พื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ตามกลไกของ พรบ. ประกอบกิจการพลังงาน ให้มีการจัดสรรเงินบางส่วนจากการขายไฟ แบ่งเข้ามาสู่ชุมชน หรือบริเวณพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า เพื่อให้ชุมชนสามารถนำเงินที่ได้ไปพัฒนาในด้านต่างๆ เช่น ด้านการศึกษา ด้านสาธารณะสุข และสามารถนำไปพัฒนาระบบไฟฟ้าภายในชุมชนให้ประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น